ถ้าพูดถึงปัญหาสุขภาพของคนวัยทำงานบางทีเราก็จะนึกถึงแค่ออฟฟิศซินโดรม อาการปวดหลัง ปวดคอ ไม่ก็มือชา แต่ก็มีอีกหนึ่งโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนวัยทำงานที่อายุประมาณ 45- 60 ปี และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย นั้นก็คือ “ไหล่ติด” นั้นเองอาการที่เกิดขึ้นได้เองโดยปัจจุบันยังไม่มีสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดภาวะไหล่ติดนี้ และอาการไหล่ติดจะมีอาการอย่างไร และมีอะไรเป็นสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงบ้าง ตามไปดูกันได้เลยค่า
โรคไหล่ติด (Frozen shoulder)
ไหล่ติด หรือ Frozen Shoulder เป็นภาวะการอักเสบและหนาตัวขึ้นของเยื่อหุ้มข้อและเส้นเอ็นรอบหัวไหล่ ทำให้การขยับของข้อไหล่เคลื่อนไหวได้ยากลำบากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเอื้อมหยิบของในที่สูง การดูแลตัวเองพื้นฐาน เช่น การใส่เสื้อผ้า หวีผมไม่ได้ รับประทานอาหารลำบากขึ้น การอาบน้ำที่ไม่สามารถเอื้อมมือไปถูหลังได้ หรือการติดตะขอเสื้อในของผู้หญิงลำบากมากขึ้น เป็นต้น จะพบผู้ที่มีอาการไหล่ติดได้ในช่วงอายุ 45- 60ปี และร้อยละ 70 จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย มักเกิดในข้างที่ไม่ถนัดและมีโอกาสกลับมาเป็นอีกข้างได้ สาเหตุของเกิดการไหล่ติดก็มีด้วยกัน 2 สาเหตุ คือ สาเหตุปฐมภูมิ และ สาเหตุทุติยภูมิ โดยอาการของไหล่ติดสามารถเป็นแล้วหายได้เอง แต่ต้องใช้เวลานานถึง 2 ปีครึ่ง ถึงจะสามารถกลับมาเคลื่อนไหวในองศาปกติได้ แต่โดยปกติแล้วผู้ป่วยจะไม่สามารถทนอาการปวดและการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ที่ยากลำบากไม่ได้ จึงต้องมาทำการรักษาทางกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการปวดและเพิ่มองศาการเคลื่อนไหวของไหล่นั้นเอง
สาเหตุของไหล่ติด
- สาเหตุปฐมภูมิ (Primary frozen Shoulder, idiopathic frozen shoulder) : เป็นการเกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ
- สาเหตุปฐมภูมิ (Secondary frozen shoulder) : เป็นสาเหตุที่มีทั้งปัจจัยภายในร่างกายและภายนอกร่างกาย เช่น การไม่ได้ขยับหรือเคลื่อนข้อไหล่มาเป็นเวลานาน จากการประสบอุบัติเหตุทำให้กระดูกข้อไหล่หักแล้วต้องใส่เฝือก การผ่าตัดหัวใจทำให้ยกแขนไม่ได้ หรือเป็นมะเร็งเต้านม หรือเกิดจากโรคทางระบบร่างกาย เช่น เบาหวาน ไทรอยด์ หรือ โรคหลอดเลือดสมองแตกหรือตีบ โรคพาร์กินสัน โดยโรคทางระบบประสาทจะเกิดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ ทำให้เกิดการยึดติดของข้อไหล่ตามมาได้
ระยะของไหล่ติด
- ระยะปวด (Painful or Freezing stage) ระยะนี้จะเกิดอาการปวดของไหล่มาก จะเกิดในช่วง 10- 36 สัปดาห์ หรือ 3- 9 เดือน จะพบอาการปวดตอนกลางคืนหรือตอนพักก็ได้ จะมีการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อทำให้การเคลื่อนไหวของข้อไหล่ค่อยๆ ลดลง
- ระยะข้อติด (Stiffening or Frozen stage) ระยะนี้จะเกิดภาวะข้อไหล่ติด จะพบในช่วง 4- 12 เดือน อาการปวดจะค่อยๆลดลงแต่จะมีปัญหาข้อไหล่ติดทำให้ทำกิจวัตรประจำวันไม่ได้เหมือนเดิม เช่น เอื้อมหยิบของที่สูงไมไ่ด้ ถูหลังไม่ได้ หรือในผู้หญิงติดตะขอเสื้อในด้านหลังไม่ได้ เป็นต้น
- ระยะฟื้นตัว (Recovery or Thawing stage) ระยะนี้จะพบช่วง 12- 26 เดือนหรือมากกว่านี้ โดยจะไม่พบอาการปวดของข้อไหล่และสามารถกลับมาเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้เป็นปกติ และหากไม่รักษาเลยปล่อยถึงไว้ประมาณ 30 เดือนหรือ 2 ปีครึ่ง ไหล่ที่ติดก็จะสามารถกลับมาเคลื่อนไหวได้เองตามปกติ
อาการของไหล่ติด
- อาการปวด โดยอาจจะพบอาการปวดในตอนกลางคืน ขณะพัก หรือการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ก็จะเกิดอาการปวดตามมาได้ และสามารถเกิดอาการปวดของกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่ร่วมด้วยได้
- องศาของข้อไหล่มีการเคลื่อนไหวลดลง และมีการติดขัด ทำให้การทำงานของไหล่ลดลง และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การรับประทานอาหาร การแต่งตัว การอาบน้ำ เป็นต้น
- ลักษณะร่างกายที่ไม่เหมาะสม เช่น ทำให้ไหล่งุ้ม หลังค่อมได้
- กล้ามเนื้อรอบข้อไหล่ และบริเวณรอบข้างมีอาการเกร็งตัวและตึงตัวได้
แนวทางการักษาและป้องกัน
การรักษาไหล่ติดนั้นส่วนมากจะเป็นการรักษาแบบประคับประคอง เพราะไหล่ติดเป็นอาการที่สามารถหายได้เอง การรักษาไหล่ติดก็มีด้วยกันหลากหลายทาง เช่น การฉีดยาเข้าข้อไหล่ การทานยาแก้ปวด การฝังเข็ม หรือการรักษาทางกายภาพบำบัด โดยการรักษาจะขอเน้นไปทางการรักษาโดยการทำกายภาพบำบัด การรักษาทางกายภาพบำบัดจะมีการแบ่งตามระยะของอาการไหล่ติดหากเป็นระยะแรกที่มีอาการปวดก็จะลดอาการปวด เช่น การประคบเย็นในระยะที่มีการอักเสบ หรือหากปวดมาเป็นระยะเวลานานก็สามารถเปลี่ยนเป็นประคบร้อนได้ หรืออาจจะใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดที่ให้ความร้อนลึก เช่น Ultrasound, Shortwave Diathermy เป็นต้น และการออกกำลังกายแบบไม่มีแรงต้านร่วมด้วย ในระยะที่มีการติดของข้อไหล่ จะเป็นการรักษาโดยการเพิ่มองศาการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ โดยจะเน้นเป็นการนวด ดัดดึงข้อต่อ การยืดกล้ามเนื้อ เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและทำให้เพิ่มองศาการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ได้ และระยะสุดท้ายการฟื้นตัวระยะนี้จะเน้นเป็นการเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อเพื่อทำให้เกิดความมั่นคงของข้อไหล่ สะบัก และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บซ้ำของข้อไหล่ได้
อาการไหล่ติดที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่อาการร้ายแรง เป็นอาการที่สามารถหายเองได้ แต่ถ้าหากเป็นแล้วก็ไม่ควรจะปล่อยทิ้งไว้เพราะจะยิ่งทำให้ประสิทธิภาพหรือคุณภาพชีวิตของเราลดลงได้จากอาการในระยะช่วงแรกๆ ทางที่ดีก็ควรรีบไปพบแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษาและหาวิธีดูแลตัวเองต่อไปนั้นเอง
ไหล่ติด หายเองได้แต่ก็ต้องบริหารไหล่ด้วย ยางยืดออกกำลังกายจาก Bewell
ถึงแม้ว่าไหล่ติดจะหายเองได้ แต่เมื่ออาการดีขึ้นแล้วก็ต้องออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่ด้วย โดยสามารถทำเองได้ง่ายๆด้วยท่าบริหารไหล่ติด ร่วมกับยางยืดเพื่อจะสามารถช่วยเพิ่มกำลังของกล้ามเนื้อและเพิ่มความมั่นคงให้กับข้อไหล่ได้ ด้วยวัสดุจากยางยืดที่มีคุณภาพ สามารถยืดหยุ่นและเพิ่มแรงต้านได้ตามใจชอบแล้วแต่ความต้องการ และสามารถใช้งานได้หลากหลายไม่เพียงแค่ช่วยเรื่องไหล่ติด ยังสามารถช่วยบรรเทาอาการออฟฟิศซินโดรมที่เกิดจากกล้ามเนื้อไม่แข็งแรงได้อีกด้วย