บทความนี้จะพาคุณเจาะลึกถึงสาเหตุ อาการ และวิธีบรรเทาอาการปวดคอตามหลักการยศาสตร์โดยเฉพาะ
อะไรคือสาเหตุของอาการปวดคอเรื้อรัง?
1. ท่านั่งและท่านอนที่ไม่เหมาะสม
- พฤติกรรมการใช้ชีวิตในปัจจุบันมักเกี่ยวข้องกับการนั่งทำงานเป็นเวลานาน โดยเฉพาะการก้มมองจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ รวมถึงการนอนในท่าที่ไม่สอดคล้องกับแนวกระดูกคอ เช่น การนอนผิดท่า หรือการนอนตกหมอน สิ่งเหล่านี้ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอและไหล่ต้องรับแรงกดทับอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการเกร็งตัวสะสมจนกลายเป็นก้อนเนื้ออักเสบ นำไปสู่อาการปวดคอเรื้อรังในที่สุด
2. การบริหารกล้ามเนื้อผิดวิธี
-
การใช้งานกล้ามเนื้อมากเกินไป เช่น การออกกำลังกายผิดวิธี หรือการยกของหนักต่อเนื่อง ทำให้กล้ามเนื้อและข้อต่อบริเวณคอทำงานหนักเกินกำลัง
-
การขาดการบริหารกล้ามเนื้อ หรือไม่มีการยืดเหยียดกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอ ทำให้กล้ามเนื้อขาดความยืดหยุ่น
3. การเกิดอุบัติเหตุ
- อุบัติเหตุที่ส่งผลต่อบริเวณคอ ไม่ว่าจะเป็นการกระแทก การหันคอผิดจังหวะ หรือการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ สามารถก่อให้เกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อบริเวณคอ ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง อาจพัฒนาเป็นอาการปวดคอเรื้อรังได้
4. ภาวะเครียดและความวิตกกังวล
- ความเครียดและความวิตกกังวลมีผลโดยตรงต่อการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อบริเวณคอและบ่า โดยผู้ที่มีภาวะเหล่านี้มักจะเกิดการเกร็งกล้ามเนื้อโดยไม่รู้ตัว เมื่อเกิดขึ้นบ่อยครั้งและต่อเนื่องจะนำไปสู่การอักเสบและอาการปวดเรื้อรังได้
5. ภาวะเสื่อมของกระดูกและหมอนรองกระดูก
- ปัจจัยด้านอายุและพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การนั่งก้มคอเป็นเวลานาน สามารถเร่งการเสื่อมของกระดูกสันหลังบริเวณคอและหมอนรองกระดูก ภาวะเสื่อมนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอาการปวดคอเรื้อรัง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง
อาการแบบไหนเรียกว่าปวดคอเรื้อรัง?
-
ปวดร้าวกล้ามเนื้ออยู่ตลอดเวลา: รู้สึกปวดร้าวกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่ง ไม่ว่าจะ คอ บ่า ไหล่ ท้ายทอย หรือหลัง ซึ่งอาจมีอาการปวดตลอดเวลา หรือปวดเฉพาะเวลากดแล้วรู้สึกเจ็บ ทั้งนี้ความรุนแรงของอาการปวด สามารถเป็นได้ตั้งแต่เริ่มรู้สึกรำคาญไปจนถึงทรมานจนไม่สามารถขยับบริเวณนั้นได้
-
มีอาการชาบริเวณร่างกาย: บางรายอาจมีอาการชาร้าวจากคอไปยังบริเวณมือ หรือมีอาการแขน เท้า และขาอ่อนแรงร่วมด้วย
-
มีอาการปวดศีรษะ: บางรายอาการปวดคออาจทำให้ปวดศีรษะได้ เช่น อาการปวดบริเวณข้างแก้ม ขมับรอบดวงตา บนหนังศีรษะ หรือชาบริเวณใบหน้า เนื่องจากกล้ามเนื้อที่ตึงจะไปกดทับเส้นประสาทที่เชื่อมโยงกับศีรษะ
-
มีปัญหาในการนอน: บางรายอาการปวดคอเรื้อรังส่งผลให้ปวดจนนอนหลับไม่สนิท มีอาการเครียด ซึมเศร้าร่วมด้วย ส่งผลให้คุณภาพการนอนลดลง
5 วิธีลดอาการปวดคอเรื้อรัง ที่ทำได้ด้วยตัวเอง
1. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นวิธีธรรมชาติที่ดีที่สุดในการบรรเทาอาการปวดคอ คุณไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายหนัก เพียงแค่เลือกกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือดและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เช่น การเดินเร็ว ว่ายน้ำ หรือโยคะ การเคลื่อนไหวร่างกายเบา ๆ แต่ทำอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้กล้ามเนื้อคอแข็งแรงและยืดหยุ่นขึ้น และช่วยคลายอาการปวดเกร็งได้ดี โดยแนะนำให้ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ครั้งละ 30 นาที
2. บริหารคอและไหล่เป็นประจำ
-
ท่าที่ 1: นำแขนซ้ายไขว้หลัง จากนั้นใช้มือขวากดและเอียงศีรษะลงไปด้านขวา จนรู้สึกตึงพอดี ค้างไว้ 15 – 20 วินาที ทั้งหมด 20 ครั้ง และสลับข้าง
-
ท่าที่ 2: นำแขนซ้ายไว้หลัง จากนั้นใช้มือขวากดและเอียงศีรษะลง โดยหันหน้าก้มมองสะโพกขวา จนรู้สึกตึงพอดี ค้างไว้ 15 – 20 วินาที ทั้งหมด 20 ครั้ง และสลับข้าง
-
ท่าที่ 3: นำมือ 2 ข้างผสานกันที่ท้ายทอย และก้มคอไปด้านหน้า ให้รู้สึกตึงบริเวณหลังท้ายทอยจนถึงสะบัก ค้างไว้ 15 – 20 วินาที ทั้งหมด 20 ครั้ง และสลับข้าง
3. ประคบอุ่นหรือเย็นบรรเทาอาการ
- เมื่อรู้สึกปวดคอ การประคบอุ่นหรือเย็นสามารถช่วยลดอาการปวดและอักเสบในกล้ามเนื้อคอได้ โดยการประคบเย็นจะเหมาะกับช่วงที่เพิ่งเริ่มปวดหรือมีอาการอักเสบ ส่วนการประคบอุ่นจะช่วยคลายกล้ามเนื้อที่ตึงเครียดได้ดี คุณสามารถใช้แผ่นประคบหรือผ้าชุบน้ำอุ่น/เย็นประคบบริเวณที่ปวด ครั้งละ 15-20 นาที วันละ 2-3 ครั้ง
4. ปรับสภาพแวดล้อมการทำงาน
-
วางจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตา
-
ใช้เก้าอี้ที่มีพนักพิงรองรับหลังอย่างเหมาะสม
-
วางคีย์บอร์ดในตำแหน่งที่ข้อศอกทำมุม 90 องศา
-
พักสายตาตาม “กฏ 20-20-20” หรือ การพักสายตาทุก 20 นาที มองไกล 20 ฟุต 20 วินาที เพื่อช่วยลดอาการปวด คอ บ่าที่อาจเกิดขึ้น
5. ปรับการนอนให้ถูกวิธี
- การนอนหลับที่มีคุณภาพเป็นกุญแจสำคัญในการฟื้นฟูกล้ามเนื้อและลดอาการปวดคอ โดยท่านอนที่แนะนำมี 2 ท่าหลัก คือ นอนหงายโดยใช้หมอนรองใต้คอให้พอดี หรือนอนตะแคงโดยใช้หมอนที่มีความสูงเท่ากับความกว้างของไหล่ ส่วนท่าที่ควรหลีกเลี่ยงคือการนอนคว่ำ เพราะจะทำให้คอต้องบิดไปด้านใดด้านหนึ่ง
- นอกจากท่านอนแล้ว สภาพแวดล้อมการนอนก็สำคัญไม่แพ้กัน ควรจัดห้องนอนให้มีอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป แสงไม่จ้าเกินไป และมีอากาศถ่ายเทสะดวก ที่สำคัญ ควรหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือบนเตียง เพราะมักทำให้เราอยู่ในท่าที่ไม่เหมาะสมโดยไม่รู้ตัว